วัดถ้ำคูหา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี โดยวัดแห่งนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองยอ ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวัดที่มีถ้ำอยู่ภายในวัด และ ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยศรีวิชัย พระพุทธรูปศิลปะอินเดีย และ พระพุทธรูปสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำ
ภายในบริเวณถ้ำ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ โดยมีห้องโถงใหญ่ของถ้ำ ที่มีขนาดยาวประมาณ 17 เมตร กว้าง 8 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปศิลาทราย และพระพุทธรูปดินดิบ ในปางต่างกัน อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยและปางสมาธิประดิษฐานเรียงราย เป็นแถวชิดผนังถ้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีประมาณ 50 องค์ โดยมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางไสยยาสน์ ยาวประมาณ 8 เมตร ประดิษฐานไว้สุดผนังด้านใน ฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำมีพระพุทธรูปดินดิบ เป็นพระพุทธรูปดินปั้นนูนสูง ประกอบด้วยภาพพระพุทธเจ้า และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์ สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในพุทธศาสนามหายาน ปั้นปะติดบนผนังและเพดานถ้ำ
เดิมมีผู้เล่าว่าภาพดินปั้นเหล่านี้มีเต็มตลอดเพดานถ้ำ แต่ได้หลุดร่วงไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือภาพดินปั้น อยู่สองตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณผนังและเพดานตรงปากทางเข้าถ้ำและบริเวณมุมซอกเพดานด้านตะวันออกเฉียงใต้
รูปเคารพในพุทธศาสนาที่ปรากฏในวัดถ้ำคูหานี้ นอกจากมีความสำคัญในเชิงศิลปกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ให้ชนรุ่นหลังได้สืบค้น เพื่อรู้จักรากความเชื่อของชนพื้นถิ่นบรรพบุรุษของชาวกาญจนดิษฐ์ ที่เรารู้ว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีวิวัฒนาการ ในย่านลุ่มน้ำคลองท่าทอง และมีอดีตยาวนานมาเป็นพันปี ร่วมสมัยกับแหล่งอารยธรรมอื่นในคาบสมุทรแห่งนี้ ที่มีการใช้ถ้ำเป็นศาสนสถาน ซึ่งจะเห็นได้จากพระพุทธไสยาสน์วัดคูหาแห่งนี้ คล้ายคลึงกับพระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข ที่ จ.ยะลา และเป็นวัดสมัยทวารวดี คาบเกี่ยวกับศรีวิชัยเช่นกัน
ที่นี่ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
การเดินทางสู่วัดถ้ำคูหา เริ่มจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 ไปทาง อ.กาญจนดิษฐ์ ตรงไปเรื่อยๆ ทางเข้าวัดจะอยู่ทางขวามือ ก่อนถึงสามแยกวัดคูหา แต่ต้องเลยสามแยกเพื่อกลับรถ ปากทางมีซุ้มประตูทางเข้าวัดถ้ำคูหา